ลอยกระทงกลางน้ำโขง สักการะ พระธาตุกลางน้ำ

Unseen Thailand ในแบบฉบับของผม เที่ยวลอยกระทง กลางแม่น้ำโขง ลอยสักการะ พระธาตุกลางน้ำ สัมผัสชีวิตเรียบง่าย ชาวหนองคาย

วางแผน เที่ยวลอยกระทง และเหตุผล ทำไมวางแผน ไปลอยที่หนองคาย

ลอยกระทง จะไปลอยไหนดี ?

เล่าเรื่อง หลังจากลอยกระทง....



...ผมเชื่อว่า สิ่งที่หลายท่านไม่รู้คือ ที่ จังหวัดหนองคาย วันลอยกระทง จะมีเรือพาไปลอยยังกลางแม่น้ำโขง
เป็นความบังเอิญที่ผมได้รับรู้มา และในปี 2552 นี้ ผมจึงวางแผนที่จะไปลอยกระทงกลางแม่น้ำโขง

...จุดที่มีเรือ พาไปลอยกระทง กลางแม่น้ำโขง(ยามค่ำคืน) ที่ผมรู้มาคือ ที่ บริเวณท่าน้ำวัดหายโศก(อยู่ใกล้ๆท่าเสด็จ)
และบริเวณพระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ หรืออีกชื่อเรียกพระธาตุหนองคาย)

...ผมจึงมองเห็นความพิเศษ ในการที่จะได้สักการะ พระธาตุกลางน้ำ ยามค่ำคืน ด้วยการลอยกระทง
และยังได้เป็นการลอยกระทงกลางแม่น้ำโขงอีกด้วย กระทงที่เราลอยนี้ ก็จะลอยไปไกลแสนไกลตามกระแสน้ำโขง

==>ด้วยความหมายของการลอยกระทง ( ข้อมูลจากเว็บ http://hilight.kapook.com/view/30438 )
1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อ
พระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
2.เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท
3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ
และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน
7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญหาพื้นบ้านไว้อีกด้วย <===

...จากความหมายของการลอยกระทง ทำให้ผมเห็นว่า การที่เราได้ลอยกระทง สักการะ พระธาตุกลางน้ำ(พระธาตุกลางน้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทขวา เก้าพระองค์ ตามตำนานอุรังคธาตุ) เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นการสักการะที่ทรงคุณค่า
....และยังได้เป็นการสะเดาะห์เคราะห์ ลอยสิ่งไม่ดีในชีวิต ให้ลอยไปตามแม่น้ำ การได้ลอยยังแม่น้ำโขง ที่กลางแม่น้ำ ผมคิดว่า เป็นการลอยสิ่งไม่ดี ให้ออกไปจากชีวิตได้ไกลแสนไกล เพราะสายน้ำโขง ไกลยิ่งนัก อีกทั้งลอยกลางแม่น้ำ ไม่มีโอกาสติดขอบตลิ่ง ต่างจากการลอยตามหนองน้ำ (...ขณะที่เขียนข้อมูลอยู่นี้ ผมยังคิดว่า กระทงที่ผมลอย ไปถึงไหนแล้วหนอ...)

...เมื่อมองเห็นความ Unseen ความพิเศษ ของการได้ลอยกระทงกลางแม่น้ำโขง สักการะพระธาตุกลางน้ำ แล้ว
จึงตั้งใจว่าวันลอยกระทง จะไปลอยยัง จ.หนองคาย กลางแม่น้ำโขง บริเวณพระธาตุกลางน้ำแน่นอน

...ผมเห็นจังหวัดต่างๆ จัดงานยิ่งใหญ่มากมาย แต่ ยังงัยๆ ผมก็มองว่า การลอยกระทง กลางแม่น้ำโขงยามค่ำคืน ที่พระธาตุกลางน้ำ จ.หนองคาย Unseen ที่สุดแล้วครับ !!! แม้จะไม่มีใครพูดถึง ไม่มีสื่อประชาสัมพันธ์ ไม่มีงานใหญ่โต ...งานใหญ่โต กับเนื้อหาสาระ ในการที่คนเราจะไปทำพิธีการลอยกระทง ผมให้ความสำคัญ กับการลอยกระทงของผม มากกว่าการไปดูงาน ...รูปภาพต่างๆในเว็บนี้ เป็นรูปแฟนผมนะครับ เดี๋ยวจะแปลกใจว่า ใช้แทนตัวผม แต่ทำไม เป็นรูปผู้หญิง ผมเป็นคนถ่ายภาพ ขอบอกว่า ถ่ายภาพกลางคืนเพื่อเก็บบรรยากาศ ถ่ายยากมาก

ลอยกระทงกลางน้ำโขง | เดินทางถึง จ.หนองคาย

เดินทางถึง จ.หนองคาย เวลาประมาณ 5 โมงเย็น

...ชาวหนองคาย เริ่มมีแม่ค้า พ่อค้า นำกระทงมาวางขาย ตามวัดบ้าง ตามท่าน้ำ ริมโขงบ้าง
ไม่มีการจัดงานใหญ่โต บรรยากาศเรียบง่าย คาดว่า ไม่มีนักท่องเที่ยว เพราะไม่ได้จัดงานใหญ่
และไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ทำให้เห็นชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวหนองคาย อย่างแท้จริง
บรรยากาศประมาณว่าโฮมสเตย์ เพียงแต่ว่า เราไม่ได้ไปพักเท่านั้นเอง

...พบชาวต่างชาติ อยู่พอสมควร แต่คงไม่ได้ตั้งใจมางานลอยกระทง คงเป็นชาวต่างชาติ ที่
อยู่ที่หนองคาย นานแล้ว เพราะหนองคายได้ขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 7 ของโลก

....ขับรถไปยังพระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ) ซึ่งอยู่ในตัวเมืองหนองคายริมน้ำโขง
ห่างจากตลาดท่าเสด็จพอสมควร (ตลาดท่าเสด็จ หาไม่ยาก ถึงตัวเมืองหนองคายแล้ว บริเวณตลาดริมโขง
ตัวเมืองหนองคาย ก็คือตลาดท่าเสด็จ) จากตลาดท่าเสด็จ ขับรถตรงไปเรื่อยๆ จะพบเอง


ดู ไม่มีชื่อ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

โดยถ้าเราอยู่ตลาดท่าเสด็จ หันหน้าไปยังแม่น้ำโขง ให้ขับรถไปเส้นทางขวามือของเรา ตรงไปเรื่อยๆ
ที่ว่าไกลก็คือ ถ้าจะจอดรถตลาดท่าเสด็จแล้วเดินไป ก็ใช้เวลานาน ประมาณว่า 2-3 กม.(ไม่รู้ผมกะถูกมั้ย)
ขับรถไปเลยครับ ขับไปเรื่อยๆ จะพบตลาดขายกับข้าว ตรงข้ามตลาด จะมี เซเว่น อิเลฟเว่น บริเวณนั้นเอง
ที่ริมโขง จะเป็นที่ตั้งของ พระธาตุหล้าหนองจำลอง สำหรับพระธาตุจริง จะอยู่ในแม่น้ำโขง มองไปยังแม่น้ำโขง
จะพบโผล่เหนือน้ำขึ้นมา
หรือพระธาตุกลางน้ำ หรืออีกชื่อคือ พระธาตุหนองคาย


ดู ไม่มีชื่อ ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

ลอยกระทงกลางน้ำโขง | บรรยากาศ บริเวณพระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ)



ไปถึงพระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ) บรรยากาศพึ่งจะพลบค่ำ ผู้คนยังไม่มาก
พ่อค้าแม่ค้า ก็กำลังทะยอยกันตั้งร้านขายกระทง เสื้อผ้า อาหาร



ได้บรรยากาศที่ดีมากๆ เป็นบรรยากาศที่ไม่มีความวุ่นวาย เป็นบรรยากาศ ของชีวิตชาวหนองคาย ในค่ำคืนของวันลอยกระทง




ลอยกระทงกลางน้ำโขง | ผู้คนเริ่มทยอยกันมา

ประมาณ 6โมงเย็น ผู้คนเริ่มทยอยกันมา สักการะพระธาตุหล้าหนอง(พระธาตุกลางน้ำ)
พร้อมทั้งลอยกระทงที่ท่าน้ำ และทยอยมามากขึ้นเรื่อย เพื่อลอยกระทงตามประเพณี











มีทางเดินลงไปยังท่าน้ำ คนเริ่มทยอยมากันมากขึ้นเรื่อยๆ คนรู้จักกัน ได้มาเจอกันก็สวัสดีทักทาย
เป็นบรรยากาศ ของชาวหนองคาย โดยแท้





บางคนก็ลอยที่ท่าน้ำ บางคนก็นั่งเรือไปลอยกลางแม่น้ำโขง ที่ท่าน้ำมีเด็กๆคอยส่งกระทงให้ลอยออกจากตลิ่ง

ลอยกระทงกลางน้ำโขง | นั่งเรือไปลอยกระทงกลางแม่น้ำโขง สักการะพระธาตุกลางน้ำ

...มีเรือบริการ นั่งเรือไปลอยกลางแม่น้ำโขง บริเวณพระธาตุกลางน้ำ ค่าบริการ คนละ 10 บาท





...ออกเรือ เดินทางไปยังพระธาตุกลางน้ำ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระธาตุที่จำลอง ไว้บนฝั่ง



...จุดธูปเทียนก่อนลอยสักการะ พระธาตุกลางน้ำ



...อธิษฐานก่อนลอยกระทง





ลอยเสร็จ เรือก็โค้ง กลับมายังท่าน้ำ
...จากภาพเห็นพระธาตุกลางน้ำมั้ยครับ กระแสน้ำไหลมา กระทบกับพระธาตุกลางน้ำ ก็จะไหลแหวก เป็นทางยาว


จารึกที่พระธาตุกลางน้ำจำลอง | พระธาตุเมืองหล้าหนอง



พระธาตุเมืองหล้าหนอง

...ในตำนานพระอุรังคธาตุได้กล่างถึงเมืองสาเกต (101ประตู) เกิดบั้งไฟ
ระเบิดเกิดเป็นหนองน้ำใหญ่คือ หนองพลาญชัย เป็นหนองน้ำแรก กลุ่ม
น้าเลี้ยงพ่อนมและผู้คนซึ่งนำดดยเจ้าสังขวิชัย อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณ
ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเดิมมีหนองน้ำใหญ่และได้ตั้งชื่อว่า "เมืองหล้าหนอง"
แปลว่า หนองน้ำใหม่หรือสุดท้าย โดยถือนิมิตหนองพลาญชัยเป็นแห่งแรก
เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มา พระมหาสังฆรักขิต ได้บวชให้เป็นพระมหาสังขวิชัย
จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้สร้างพระธาตุเมืองหล้าหนองขึ้นประดิษฐาน
พระบรมสารีริกธาตุฝ่าพระบาทขวา 9 องค์ในอุโมงค์หิน เมื่อ พ.ศ.2109
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้สร้างเจดีย์ครอบ
ก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง 15.80 เมตร สูง 33 เมตร ศิลปะแบบล้านช้าง ต่อมา
แม่น้ำโขงได้ไหลกัดเซาะฝั่งขวาถึงมหาธาตุเจีย์จนทรุดเอียงในวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9
พ.ศ. 2390 เมื่อตั้งเมืองหนองคาย พ.ศ. 2371 แล้ว 19 ปี และกระแสน้ำ ได้กัดเซาะตลิ่ง
พังทลายไปอีกจนห่างจากฝั่งขวาแม่น้ำโขง ประมาณ 180 เมตร ในปัจจุบัน

หน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดหนองคาย
(โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร) โดยอาจารย์วินิจ พลพิทักษ์ หัวหน้าหน่วยฯ อาจารย์สิทธิพร
ณ นครพนม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ติดต่อ นายภิรมย์ จีนะเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร
ซึ่งมีภริยาเป็นชาวหนองคาย ให้ส่งนายเอิบเปรม วัชรากร หัวหน้าหน่วยโบราณคดีใต้น้ำ
และคณะมาสำรวจ พระธาตุองค์นี้ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2539 ผลการสำรวจพบว่า

1. องค์พระธาตุล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และแตกหัก
ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ มุมฐานที่พ้นผิวน้ำ และที่จมอยู่ ความกว้างของฐาน
รวมกัน 15.80 เมตรพอดี ทั้งยังสร้างด้วยอิฐถือปูนทั้งองค์ต่างกับเจดีย์อื่น ซึ่งก่ออิฐถือปูน
เป็นกรอบ แล้วอัดด้วยดินให้แน่น

2. ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำต่อจากบัลลังก์ ถึงปลายที่หักยาว 732 เซนติเมตร มีลวดลายปูนปั้นประดับ
คาดว่าเป็นเรือนธาตุส่วนกลาง

3. ส่วนยอดพระธาตุไม่สามารถสำรวจได้ เพราะมีเนินทรายสูงกลบทับ เนื่องจากการหมุน
ย้อนวนกลับของกระแสน้ำและทราย ปะทะฐานองค์พระธาตุจนทับถมเป็นเนินสูงมาเป็นเวลา
ช้านาน

มร.อองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส รับงานราชภูมิศาสตร์สมาคมอังกฤษ
ได้เดินทางขึ้นมาสำรวจแม่น้ำโขงและวาดภาพนครวัด นครธม ประเทศกัมพูชา เผยแพร่
ให้ชาวโลกได้รับรู้ ได้ขึ้นมาเมืองหนองคายเมื่อปี พ.ศ. 2404 วาดภาพพระธาตุเมืองหล้าหนอง
ที่กำลังเอียงทรุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2390 เอาไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2410 มร.ฟรังซิส กรานิเยร์
ชาวฝรั่งเศส ได้นำภาพเผยแพร่ให้ชาวโลกได้ทราบ รวมตลอดทั้งภาคอีสานเหนือ และ
ประเทศลาวในยุคนั้น

จารึกที่พระธาตุกลางน้ำจำลอง | พระบรมสารีริกธาตุ สองฝั่งแม่น้ำโขง



พระบรมสารีริกธาตุสองฝั่งแม่น้ำโขง

...ในตำนานพระอุรังคธาตุซึ่งถือว่าเก่าสุดตำนานหนึ่ง ได้ระบุว่า
เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
แล้ว 8 ปี (พุทธศักราช 8) พระมหากัสสปะ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนพระอุรังคธาตุ (หน้าอก) มาประดิษฐไว้ที่พระธาตุพนม และได้
มอบหมายให้พระอรหันต์ 3 องค์ คือ พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต
พระสังฆรักขิต ร่วมกับศิษย์อีก 5 รูป ซึ่งต่อมาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
รวม 8 องค์ นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆ มาประดิษฐานตามนคร
หรือเวียงและเมืองสำคัญต่างๆ เมื่อเสด็จปรินิพพานแล้ว พระธาตุทั้ง 8 องค์
ได้ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่ธาตุพระอรหันต์ บริเวณด้านหน้าอุโบสถ
วัดโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย และพระอังคารธาตุได้ถูกนำไป
ประดิษฐานไว้ที่วัดธาตุฝุ่น นครหลวงเวียงจันทน์ในปัจจุบัน

พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานตามตำนานดังกล่าว คือ

1. พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม บรรจุ พระอุรังคธาตุ(ส่วนหน้าอก)
2. พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตย
ประชาชนลาว บรรจุคูหฐาน(ส่วนหัวเหน่า)
3. พระธาตุบังพวน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเวียงคุคำ(เวียงคำ) คู่แฝดเมืองเวียงจันทน์
ปัจจุบันเป็นตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย บรรจุพระบังคน(ส่วนกระเพาะ,โผ่น)
4. พระธาตุโพนจิกเวียงงัว เดิมคือเมืองเวียงงัว ตำบลปะโค(พระโค, วัว) อำเภอเมืองหนองคาย
บรรจุพระธาตุเขี้ยวฝาง
5. พระธาตุเมืองหล้าหนอง บรรจุพระธาตุฝ่าพระบาทขวา 9 องค์ คุ้มวัดธาตุ เทศบาลเมืองหนองคาย
และล้มลงอยู่กลางแม่น้ำโขงในปัจจุบัน ซึ่งสามารถมองเห็นมุมฐานโผล่ขึ้นมาประมาณสามเมตรใน
ฤดูแล้งเมื่อน้ำโขงลดระดับลง